วันอังคารที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2551




ความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน
สาระสำคัญ
ในการทำงานทุกโครงงาน ผู้ทำต้องระมัดระวังตนเองให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น ทุกคนจึงต้องศึกษาการทำงานให้เกิดความปลอดภัย และเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นแล้วจะต้องรู้จักการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเพื่อช่วยเหลือให้ผู้ป่วยปลอดภัยถึงมือแพทย์ต่อไป
จุดประสงค์การเรียนรู้
อธิบายการปฏิบัติงานให้เกิดความปลอดภัยและการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
เนื้อหา
ไฟฟ้าที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน นับว่าเป็นประโยชน์และให้ความสะดวกแก่เราอย่างยิ่ง แต่ในขณะเดียวกันก็อาจได้รับโทษภัยจากไฟฟ้าได้เช่นกัน เช่น อาจถูกไฟฟ้าดูดมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ฉะนั้นเราจึงควรศึกษาถึงวิธีการใช้ไฟฟ้าอย่างถูกต้อง และศึกษาถึงหลักการโดยทั่วไป เพื่อความปลอดภัยในการใช้ไฟฟ้า ในการปฏิบัติโครงงานทุกครั้งนักเรียนจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน อุบัติเหตุอาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลาในขณะปฏิบัติงานจำเป็นที่จะต้องป้องกันและระมัดระวังเพื่อความปลอดภัยของทรัพย์สินและชีวิตของเรา
ในการปฏิบัติงานทุกครั้ง ผู้ปฏิบัติงานจะต้องคำนึงถึงความพร้อมในการทำงาน ได้แก่ ร่างกายไม่เหนื่อยอ่อน ตั้งใจทำงาน ไม่หยอกล้อเล่นกัน และความประมาท เป็นต้น นอกจากนี้ยังอาจเกิดสภาพของเครื่องมือที่ชำรุด และสภาพของสถานที่ปฏิบัติงานที่ไม่เอื้ออำนวยในการทำงาน สิ่งเหล่านี้อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
การปฏิบัติงานอย่างปลอดภัยในการปฏิบัติงานโครงงานอิเล็กทรอนิกส์ทุกครั้งจะต้องปฏิบีติดังต่อไปนี้
1. พยายามฝึกให้มีความระมัดระวังในเรื่องความปลอดภัยจนเป็นนิสัย เพื่อความปลอดภัยของตนเองและผู้อื่น รวมทั้งป้องกันการชำรุดของเครื่องมือและอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ
2. พยายามระลึกอยู่เสมอว่า ความผิดพลาดครั้งแรกเกี่ยวกับไฟฟ้าอาจเป็นความผิดพลาดครั้งสุดท้าย
3. เครื่องมือเครื่องใช้ต้องมีสภาพที่จะใช้งานได้และไม่ชำรุด
4. เครื่องมือที่ใช้เสร็จแล้วต้องทำความสะอาดและเก็บเข้าที่ให้เรียบร้อย
5. ใช้เครื่องมือให้เหมาะสมกับงานที่ปฏิบัติ
6. ก่อนจะใช้เครื่องใช้จักรกลใด ๆ ต้องศึกษาให้เข้าใจถึงวิธีการใช้ให้ดีเสียก่อน ซึ่งอาจศึกษาได้จากคู่มือการใช้เครื่องมือหรือสอบถามอาจารย์ผู้ควบคุมก่อน
7. อย่าหลอกล้อหรือเล่นกับเพื่อนในขณะทำงานหรือกำลังใช้เครื่องมือต่าง ๆ
8. เมื่อมีอุบัติเหตุใด ๆ เกิดขึ้นรีบรายงานให้ผู้ควบคุมทราบไม่ว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม
9. เมื่อจะนำเครื่องมือไฟฟ้าชนิดเคลื่อนย้ายได้ไปใช้ ต้องแน่ใจว่ามีสายต่อลงดินเรียบร้อยแล้ว (สายต่อลงดินคือลวดตัวนำซึ้งต่อจากโลหะไปยังสายลงดินของวงจร)
10. เมื่อเราจะเจาะโลหะด้วยสว่านจะต้องจับชิ้นโลหะด้วยพกประกับให้มั่นคงเสมอ
11. เมื่อเกิดไฟไหม้จากไฟฟ้าจะต้องปลดสวิตซ์ตัดวงจรแล้วจึงรายงานให้เจ้าของสถานที่ทราบและพยายามดับไฟ หรือจำกัดขอบเขตไฟไหม้ให้ได้มากที่สุด
หลักการปฏิบัติตนเกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้าอย่างปลอดภัย
1. ต้องระลึกอยู่เสมอว่าอันตรายจากไฟฟ้าไม่ว่าจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนกระแสที่ไหลผ่านตัวเรา
2. แรงดันไฟฟ้าที่สูงกว่า 50 โวลท์มีอันตรายต่อร่างกายทั้งสิ้น
3. ก่อนจะเปลี่ยนแปลงหรือทำการซ่อมเกี่ยวกับวงจรไฟฟ้าใด ๆ ให้ปลดสะพานไฟออกจากวงจรก่อนเสมอ เช่น ปิดสวิตซ์ตัดไฟ และใช้มิเตอร์วัดแรงดันไฟฟ้าในวงจรที่จะตรวจซ่อม
4. เมื่อปลดสวิตซ์ตัดวงจรออกแล้วต้องผูกแผ่นป้ายอันตรายกำลังซ่อมทำวงจรไว้ที่สวิตซ์ และต้องเขียนชื่อกำกับไว้ด้วย (จะให้แน่ใจเก็บฟิวส์ใส่กระเป๋าไว้ด้วย)
5. ในการดึงปลั๊กออกจากเต้าเสียบ (out let) ให้จับที่ตัวปลั๊กด้วยมือที่แห้งและสะอาดห้ามดึงที่สายไฟ
6. เมื่อจะเปลี่ยนหรือใส่ฟิวส์ใหม่ ต้องยกสวิตซ์ตัดตอนออกก่อนเสมอ
7. อย่าเปลี่ยนฟิวส์ใหม่ให้มีขนาดโตขึ้นกว่าขนาดที่ถูกต้อง
8. เมื่อฟิวส์เกิดขาดขึ้นแล้วแสดงว่ามีสิ่งปกติเกิดขึ้นกับวงจรหรืออุปกรณ์ต้องแก้ไขข้อบกพร่องนั้นก่อนจะยอมให้มันทำงานต่อไป
9. ปลดสวิตซ์ปลดทางไฟออกก่อนทำการเปลี่ยนฟิวส์ทุกครั้ง
10.เมื่อจะเปลี่ยนหรือใส่ฟิวส์ ต้องยืนบนที่แห้ง และอย่าให้มือข้างที่ไม่ได้ทำงานไปจับต้องหรือสัมผัสกับสิ่งอื่นใดที่เป็นโลหะ
11. ช่างไฟฟ้าทุกคนจะต้องรู้จักวิธีผายปอดและการนวดหัวใจ
12. ก่อนที่จะนำเครื่องไฟฟ้าไปใช้ในงาน ต้องตรวจเทียบจากแผ่นป้ายของเครื่องว่าใช้กับแรงดันไฟฟ้าและ กระแสไฟฟ้าถูกต้อง
13. อุปกรณ์และสายไฟฟ้าที่ชำรุดอาจเกิดอันตรายต่อผู้ไปสัมผัส และอาจทำให้ไฟฟ้าลัดวงจรอันเป็นเหตุทำให้เกิดอัคคีภัยได้ ดังนั้น ควรเปลี่ยนใหม่หรือแก้ไขให้ดีขึ้น
14. อย่าใช้เครื่องมือที่มีฉนวนหุ้มซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า เพราะกระแสไฟฟ้าอาจวิ่งเข้าหาตัวเราผ่านทางเครื่องมือเหล่านั้นได้
15. อย่านำเครื่องไฟฟ้ากระแสตรงไปใช้กับกระแสสลับ หรือกระแสสลับไปใช้กับกระแสตรงอย่าลืมปิดสวิตซ์หรือหมุนปุ่มไปตามการใช้นั้น ๆ
16. อย่าต่อเครื่องใช้ไฟฟ้ากับไฟฟ้าที่มีแรงดันคนละชนิดกัน ควรใช้หม้อแปลงไฟฟ้าปรับแรงดันไฟฟ้าให้มีระบบเดียวกันก่อน

การช่วยเหลือผู้ประสบอันตรายจากไฟฟ้าและการปฐมพยาบาล
การช่วยเหลือผู้ประสบอันตรายให้หลุดพ้นจากกระแสไฟฟ้าเป็นสิ่งแรกและจำที่จะต้องกระทำด้วยความรวดเร็วรอบคอบและระมัดระวังเพื่อให้ผู้วิเคราะห์ได้มีโอกาสพ้นจากอันตราย ขั้นร้ายแรง และผู้ช่วยเหลือจะได้ไม่ประสบอันตรายไปด้วยอีก การช่วยเหลือผู้ถูกกระแสไฟฟ้าดูด ควรปฏิบัติดังนี้ (การไฟฟ้านครหลวง. 2520 : 46 – 47)
1. อย่าใช้มือเปล่าแตะต้องตัวผู้ที่กำลังติดอยู่กับกระแสไฟฟ้า หรือตัวนำไฟฟ้าที่เป็นเหตุให้เกิดอันตรายเป็นอันขาด เพื่อป้องกันมิให้ถูกกระแสไฟฟ้าดูดให้ได้รับอันตรายไปด้วยอีกคน
2. รีบหาทางตัดกระแสไฟฟ้า โดยการถอดปลั๊กหรือปลดสวิตซ์หรือใช้วัตถุที่ไม่เป็นสื่อไฟฟ้า เช่น ไม้ เชือก สายยางหรือพลาสติกที่แห้งสนิท หรือใช้ผ้าแห้งพันมือให้หนา ดึง ผลัก หรือฉุดผู้ประสบอันตรายให้หลุดออกมาโดยเร็ว
3. เมื่อไม่อาจทำวิธีอื่นได้ให้ใช้วัตถุที่ไม่เป็นสื่อไฟฟ้าเขี่ยสายไฟฟ้าให้หลุดออกหรือใช้มีด ขวาน ที่มีด้ามไม้ หรือฉนวนหุ้ม พันสายไฟฟ้าให้ขาด หลุดจากผู้เคราะห์ร้ายโดยเร็วที่สุดแต่การกระทำด้วยวิธีดังกล่าวจะต้องมั่นใจว่า สามารถทำได้โดยเร็วและปลอดภัย
4. อย่าลงไปในน้ำ ในกรณีที่มีกระแสไฟฟ้าอยู่ในบริเวณที่มีน้ำแข็ง ให้หาทางเขี่ยสายไฟออกให้พ้น หรือตัดกระแสไฟฟ้าก่อนที่จะลงไปช่วยผู้ประสบอันตรายที่อยู่ในบริเวณนั้น หากผู้ถูกไฟฟ้าดูดสลบหรือหมดสติ ให้รีบทำการปฐมพยาบาลให้ฟื้นโดยเร็วที่สุด
การปฐมพยาบาล
1. เมื่อได้ทำการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอันตรายออกมาได้แล้วจะโดยวิธีใดก็ตาม หากปรากฏว่าผู้ที่ถูกกระแสไฟฟ้าดูดหมดสติไม่รู้สึกตัว หัวใจหยุดเต้น (ตรวจโดยเอาหูฟังที่หน้าอกหรือจับชีพจร) ให้ใช้วิธี “นวดหัวใจภายนอก” โดยเอามือกดตรงที่ตั้งหัวใจดังรูปที่ 1 ให้ยุบลงไป 3-4 ซม. เป็นจังหวะๆ เท่าจังหวะการเต้นของหัวใจ (ผู้ใหญ่วินาทีละ 1 ครั้ง เด็กเล็กวินาทีละ 2 ครั้ง) นวด 10-15 ครั้ง เอาหูแนบฟังครั้งหนึ่ง
2. หากไม่หายใจ (ตรวจดูโดยการขยายของซี่โครงและหน้าอก) ให้ใช้วิธีเป่าลมเข้าทางปากหรือทางจมูกของผู้ป่วยดังนี้
วิธีเป่าลมเข้าทางปาก
1.ให้ผู้ป่วยนอนราบจัดท่าให้เหมาะสมจับผู้ป่วยนอนหงาย ดังรูปที่ 2
2.ใช้นิ้วหัวแม่มือง้างปลายคางผู้ป่วยให้อ้าออก ดังรูปที่ 3 หากมีเศษอาหารหรือวัสดุใด ๆ รวมทั้งฟันปลอมให้ล้วงออกให้หมด
3.ผู้ช่วยเหลืออ้าปากให้กว้างหายใจเข้าเต็มที่มือขวาข้างหนึ่งบีบจมูกผู้ป่วยให้แน่นสนิทและเป่าลมเข้าปากอย่างแรงจนปอดผู้ป่วยขยายออก (ซี่โครงและหน้าอกพองขึ้น) แล้วปล่อยให้ลมหายใจของผู้ป่วยออกเองแล้วเป่าอีก ทำเช่นนี้เป็นจังหวะ ๆ เท่ากับจังหวะหายใจปกติ (ผู้ใหญ่นาทีละ 12-15 ครั้ง เด็กเล็กนาทีละ 20-3.0 ครั้ง) ถ้าเป่าปากไม่ได้ให้ปิดปากผู้ป่วยแล้วเป่า เข้าทางจมูกแทน ดังรูปที่ 4
4.ถ้าผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นและไม่หายใจด้วย ให้นวดหัวใจสลับกับการเป่าปาก ดังรูปที่ 5 ถ้ามีผู้ช่วยเหลือเพียงคนเดียวก็ให้เป่าปาก 2 ครั้ง สลับกับการนวดหัวใจ 15 ครั้ง หรือถ้ามีผู้ช่วยเหลือ 2 คนก็ให้นวดหัวใจสลับกับการเป่าปากเป็นทำนองเดียวกัน โดยเป่าปาก 1 ครั้ง นวดหัวใจ 5 ครั้ง
การปฐมพยาบาลช่วยให้ฟื้นนี้ต้องรีบทำทันทีหากช้าเกินกว่า 4-6 นาที โอกาสที่จะฟื้นมีน้อย ขณะพาไปส่งแพทย์ก็ควรทำการปฐมพยาบาลไปตลอดเวลา

ไม่มีความคิดเห็น: